วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สัมผัส “ไทยซอฟต์แวร์” ผู้บุกเบิกอีบุ๊ค สำหรับคนไทยรายแรก


เมื่อเอ่ยถึงหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ค (e-Book) แล้ว หลายคนอาจคุ้นหูกับชื่อนี้อยู่บ้าง แต่คงไม่ได้ให้ความสนใจอะไรมากมายนัก จนกระทั่ง “โปรแกรมปลากัดอีบุ๊ค” หนังสืออิเล็กทรอนิกส์พันธุ์ไทยรายแรกเปิดตัวขึ้น โดยฝีมือของซอฟต์แวร์เฮ้าส์ชาวไทย บริษัท ไทยซอฟท์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากโปรแกรมพจนานุกรม สอ เสถบุตร ท่ามกลางการสนับสนุนอย่างอบอุ่นของภาครัฐ

“ปลากัดอีบุ๊ค” นับเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวสำคัญของวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ที่ไม่ได้บ่งบอกเพียงว่าคนไทยมีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่นเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ที่คลุกคลีอยู่ในวงการไอทีมายาว นานอย่าง “นายสมพร มณีรัตนกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซอฟท์แวร์ เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ส่วนประสบการณ์และแนวคิดของเขาจะเป็นเช่นใดนั้น ขอเชิญติดตามได้ ณ บัดนี้



IT Exclusive : ที่มาที่ไปของบริษัทไทยซอฟต์แวร์ฯ

สมพร: ตั้งแต่เริ่มต้นเลย คือเมื่อก่อน ผมเคยเป็นเจ้าหน้าที่ อยู่ที่บริษัทเอสวีโอเอ ในช่วงปี 2540-2541 ที่มีวิกฤติ เศรษฐกิจ ทางผู้บริหารก็มีแนวคิดว่าจะต้องปิดบริษัทในส่วนที่เราดูแลอยู่ เรากับทีมงานก็เลยร่วมกันมาเปิดบริษัท โดยนำเอาซอฟต์แวร์ที่ดูแลอยู่มาดูแลต่อ ซอฟต์แวร์ที่เราดูอยู่ก็จะมีซอฟต์แวร์ด้านบัญชี แล้วก็ด้านพจนานุกรม ส่วนที่เรานำมาอีกก็ คือ ตัวแทนจำหน่ายที่เคยค้าขายกันอยู่เป็นสิบๆ ปี

ตอนนั้นมองเห็นโอกาสว่า ในส่วนของซอฟต์แวร์นี้จากที่ได้คลุกคลีมานาน ตั้งแต่เริ่มจบมหาวิทยาลัยก็คลุกคลีกับสิ่งนี้มาตลอด เนื่องจากมองว่าซอฟต์แวร์เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะมีความตื่นตัวตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นอนาคตที่น่าจะเติบโตได้ดี เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม อย่างเช่น ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์หายไปก็น่าจะเติบโตได้ดี ก็เลยเป็นโอกาสที่ทางผู้บริหารมองว่าเข้ามาทำเองก็แล้วกัน

IT Exclusive : ธุรกิจหลักๆ ของบริษัทในตอนนี้มีอะไรบ้าง

สมพร: ในส่วนของไทยซอฟต์แวร์มีธุรกิจเดียวคือ ธุรกิจซอฟต์แวร์ แต่ซอฟต์แวร์ของเราแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรกเป็นซอฟต์แวร์ด้านบัญชี ตัวซอฟต์แวร์นี้ชื่อ “จีเนียส” มีทั้งบนดอสและวินโดว์ และกลุ่มที่ 2 คือโปรแกรม พจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ที่เรามีชื่อเสียงมาก ได้แก่ สอ เสถบุตร และ เปลื้อง ณ นคร กลุ่มที่ 3 คือ ซอฟต์แวร์ทางด้านสื่อการศึกษาทั่วไป ที่เห็นจำหน่ายเป็นรูปซีดีรอม วางอยู่ตามร้านหนังสือบ้าง ร้านจำหน่ายซีดีบ้าง กลุ่มที่ 4 คือ ซอฟต์แวร์ทางด้านอีบุ๊คที่เพิ่งจะเปิดตัวไปไม่นาน (โปรแกรมปลากัดอีบุ๊ค)

ในปัจจุบันสินค้า 3 กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งตลาดให้เราพอๆ กัน กลุ่มที่ 4 เป็นสินค้าที่เพิ่งจะเปิดตัวและต้องการการลงทุนระยะยาวพอสมควร เพราะฉะนั้นในส่วนของอีบุ๊คจึงยังไม่มีสัดส่วนรายได้ แต่ว่าเป็นการลงทุนให้ตลาดยอมรับและเป็นโอกาสในอนาคต

IT Exclusive : ซอฟต์แวร์เหล่านี้เราเป็นผู้พัฒนาเองทั้งหมดเลยใช่หรือไม่

สมพร: ซอฟต์แวร์ทางด้านบัญชีเราพัฒนาเองหมด ซอฟต์แวร์พจนานุกรมเราก็พัฒนาเองหมด แต่ในส่วนของสื่อการศึกษา เรามีทั้งที่ผลิตเองและเอาท์ซอร์สให้กับภายนอกบางส่วน รวมทั้งมีทั้งที่บริษัทภายนอกทำเสร็จแล้วมาให้เราเป็นผู้จำหน่ายให้ ส่วนงานด้านอีบุ๊คนั้นทางเราได้พัฒนาขึ้นเอง

IT Exclusive : ผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง พอใจมากน้อยแค่ไหน

สมพร: จริงๆ ผลประกอบการที่ผ่านมาอาจจะยังไม่พอใจเท่าไร เพราะไม่ได้สร้างการเติบโตให้เราเท่าใดนัก แต่ในแง่ชื่อเสียงของบริษัทค่อนข้างจะดี เพราะว่าส่วนใหญ่เราได้เงินมา เราก็เอาไปลงทุนทำสินค้าใหม่ๆ อย่างตัวอีบุ๊คที่ทำก็ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่สามารถทำรายได้ได้ในระยะสั้น อย่างน้อยก็อาจจะต้องรอสัก 2-3 ปี กว่าจะมีรายได้ ก็รอการยอมรับของประชาชนก่อนว่า ประชาชนยอมรับในเรื่องของอีบุ๊คหรือไม่ อีกทั้งทางสำนักพิมพ์ต่างๆ จะยอมเข้ามาร่วมมือกับเราหรือเปล่า

IT Exclusive : จากที่เปิดตัวปลากัดอีบุ๊คไปเมื่อไม่นานมานี้ ขณะนี้ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

สมพร: ผลตอบรับก็ค่อนข้างจะดี ในส่วนของเว็บไซต์ก็มีคนเข้ามาดูค่อนข้างจะเยอะพอสมควร แต่ว่าปัญหาก็คงจะอยู่ที่คอนเทนท์ คือ ตัวหนังสือ เพราะว่าโดยทั่วไป สำนักพิมพ์ยังมองว่าอันนี้เป็นของใหม่ การจะเข้ามาร่วมมือก็ยังไม่แน่ใจ กล้าๆ กลัวๆ ว่าจะเข้ามาร่วมมือดีหรือเปล่า

IT Exclusive : มองอนาคตของอีบุ๊คและแนวโน้มตลาดว่าอย่างไร

สมพร: ในส่วนของผมเอง ผมมองว่าอีบุ๊คมาแน่นอน แต่ว่าจะมาช้าหรือเร็ว แต่ว่าเมื่อมาแล้วมูลค่าตลาดจะโตขึ้นค่อนข้างเร็ว แต่ต้องรอระยะหนึ่ง อย่างน้อยต้องรอให้มีหนังสือที่คนสามารถดาวน์โหลดได้พอสมควร เพราะหนังสือมี 2 แบบ คือหนังสือแจกฟรี และหนังสือที่จำหน่าย ในการสร้างอีบุ๊คจะต้องมีทั้ง 2 ตลาด เพราะถ้ามีแต่หนังสือจำหน่าย คนก็จะไม่ให้ความเชื่อมั่น ต้องมีหนังสือแจกฟรีไปให้ดูก่อนว่า ซอฟต์แวร์ที่จะใช้เหมาะสมกับเขาหรือยัง แล้วประเภทหนังสือเหมาะสมกับเขาไหม เนื้อหาเป็นแบบนี้ ลักษณะการแสดงผลเป็นแบบนี้เหมาะกับเขาไหม

ถ้าตัวผู้บริโภคที่ใช้งานเขาใช้งานจนเคยชิน เขาก็จะมีความเชื่อมั่นและมาซื้อหนังสือที่จำหน่ายได้ สำหรับปัจจัยที่จะทำให้อีบุ๊คเข้ามานั้น ในส่วนนี้เรื่องของเทคโนโลยีมาแล้ว แต่ว่าในเรื่องคอนเทนท์เรายังไม่มีคอนเทนท์ที่เป็นจริงเป็นจัง และซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในตลาดก็ไม่มีซอฟต์แวร์ตัวไหนที่รองรับภาษาไทยจริงๆ ตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราพัฒนาปลากัดอีบุ๊คขึ้นมาเพื่อให้รองรับภาษาไทยจริงๆ

ปลากัดอีบุ๊คจะประกอบด้วย ตัวสร้าง เป็นตัวที่ใช้สำหรับบันทึกเพื่อสร้างอีบุ๊คออกมา ตัวสร้างจะใส่ทั้งตัวหนังสือ ทั้งรูปภาพและเสียง รวมๆ กัน แล้วก็สร้างมาเป็นไฟล์ ให้คนทั่วไปดาวน์โหลด เมื่อดาวน์โหลดไปแล้วจะเอาไปใช้ที่ไหน ตอนนี้โปรแกรมที่พัฒนาให้ไว้อ่านอีบุ๊คได้ ปัจจุบันเราทำเสร็จแล้วก็ คือ ตัวพอกเก็ตพีซี ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือน ส.ค. 2549 ที่ผ่านมา ส่วนที่กำลังจะมีก็คือตัวที่จะใช้งานบนระบบปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ วินโดว์

สำหรับเป้าหมายต่อไปคือเวอร์ชันที่ใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการซิมเบี้ยน จาวา หรือ บนสมาร์ทโฟน ก็จะมีออกมา หมายความว่าอีบุ๊คที่เราทำเสร็จออกมาแล้ว ก็จะสามารถนำไปเปิดอ่านบนมือถือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ค หรือพอกเก็ตพีซีก็ได้ แล้วในอนาคตอันใกล้ก็จะเปิดอ่านบนเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ตได้ด้วย แต่ตอนนี้ต้องอาศัยเวลาในการสร้างแอพพลิเคชัน เราไม่ได้ลงทุนทีเดียวทั้งหมดเลย เพราะว่าลงทุนทีเดียว ปีครึ่ง-2 ปี ก็ยังไม่ได้เปิดตัว เราจึงลงทุนเป็นระยะๆ

IT Exclusive : มุมมองซอฟต์แวร์ทั้งตลาด วันนี้วางตำแหน่งของไทยซอฟต์แวร์อยู่ในจุดไหน และมองตลาดโดยรวมเป็นอย่างไร

สมพร: ถ้าพูดถึงตลาด ต้องมองว่าตลาดแบ่งเป็นหลายกลุ่มมาก ในส่วนของไทยซอฟต์แวร์จะมุ่งเน้นไปเฉพาะตลาดสินค้าที่เป็นแมส และไม่เป็นสินค้าที่ซับซ้อนมาก ไม่ใช่สินค้าที่ต้องการดูแลรักษา เราจะทำสินค้าที่เป็นแมสแต่มีการใช้งานที่ค่อนข้างง่าย ไม่จำเป็นต้องมีบริการเสริม ถ้ามองในตลาดนี้ ไทยซอฟต์แวร์ถือว่าเราค่อนข้องจะเป็นเจ้าตลาด

IT Exclusive : ผลงานเด่นของไทยซอฟต์แวร์ที่ติดตลาดมีอะไรบ้าง

สมพร: สินค้าทั้ง 4 กลุ่มเราเด่นทั้งหมดเลย เช่นระบบบัญชีจีเนียส เรามีลูกค้าใช้มาตลอดระยะเวลา 20 ปีเป็นจำนวนมาก และชื่อของเราถ้าคนที่อยู่ในวงการบัญชีคุยกันเขาจะรู้จัก ส่วนพจนานุกรมนั้นก็เป็นตัวที่มีความโดดเด่นมาก เพราะเรามีส่วนแบ่งตลาดนี่ ผมเชื่อว่าเรามีไม่ต่ำกว่า 80-90% ของตลาดดิกชันนารีในเมืองไทย ส่วนสื่อการศึกษา ถามใครก็น่าจะรู้จักถ้าใครเคยซื้อสื่อการศึกษาที่เป็นซีดีรอม จะต้องรู้ว่าสินค้าที่เขาซื้อส่วนหนึ่งมาจากไทยซอฟต์แวร์

ส่วนตัวอีบุ๊คก็โดดเด่นเพราะเมืองไทยยังไม่มีใครทำ เพราะเราทำเป็นเจ้าแรก และที่สำคัญเราได้รับการสนับสนุนจาก
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. โดยทางภาครัฐก็ให้การสนับสนุนว่าอีบุ๊คจำเป็นต้องมีในเมืองไทย แล้วเราคงไม่รอให้เมืองนอกเข้ามากินตลาดอีบุ๊คในเมืองไทยไป ผมยกตัวอย่างว่า “เมื่อก่อนเรามีจุฬาเวิร์ด ไออาร์ซีเวิร์ด เยอะแยะมากมาย แต่เราไม่มีการสนับสนุน กลายเป็นว่าทุกวันนี้ ทุกคนไม่ได้ใช้อะไรเลยนอกจากไมโครซอฟท์ เวิร์ด แล้ว”

ดังนั้น ถ้าวันนี้เราจะไปส่งเสริมให้เอาซอฟต์แวร์ ฟรีแวร์อะไรไปใช้มันก็สู้ไม่ได้แล้ว อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้ตัวอีบุ๊คเมืองนอกมาครอบครองตลาดเมืองไทยไป ถึงอนาคตจะไปส่งเสริมอย่างไรมันก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องส่งเสริมก่อน

IT Exclusive : คิดว่าหน้าที่ตรงนี้เป็นของใคร และมองการสนับสนุนจากทางภาครัฐที่ผ่านมาว่าอย่างไร

สมพร: อย่างที่ผมบอกคือการสนับสนุนส่งเสริมตรงนี้คงไม่สามารถใช้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นภาระที่ค่อนข้างจะหนัก ในส่วนของเอกชน เราทำได้ในเรื่องของแอพพลิเคชัน ในเรื่องของการตลาด การจำหน่าย แต่การสนับสนุนในเรื่องเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญ หรือว่าการส่งเสริมให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย เพราะถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วยในรูปแบบแบบนี้ เอกชนคงไปได้ลำบาก

ที่ผ่านมาก็ค่อนข้างจะพอใจในการสนับสนุนของภาครัฐค่อนข้างมาก เพราะถ้าถาม เราก็ไม่รู้ว่าภาครัฐมีหน่วยงานประเภทนี้อยู่ แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้ว รู้ว่าภาครัฐให้การสนับสนุนในเรื่องผู้เชี่ยวชาญ ให้เรื่องเงินทุนส่วนหนึ่ง เอาเป็นว่าเราลงทุนส่วนใหญ่แล้วภาครัฐมาช่วย แล้วก็ช่วยในด้านการประชาสัมพันธ์ ที่ผ่านมาค่อนข้างให้การตอบรับเป็นอย่างดี


IT Exclusive : มองนโยบายโดยรวมของรัฐบาลเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านไอทีอย่างไร

สมพร: ในการสนับสนุนของภาครัฐโดยรวม ส่วนตัวผมมองว่ารัฐบาลค่อนข้างจะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใดๆ ก็แล้วแต่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไอทีนี้ก็ค่อนข้างที่จะสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุน การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน อีกทั้งการให้เงินสนับสนุนการวิจัย หรือแม้กระทั่งการให้กู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมว่าตรงนี้ช่วยให้คนในอุตสาหกรรมกล้าที่จะทำงานแล้วก็เติบโตได้

IT Exclusive : ในแง่การดูแลคุ้มครองในเรื่องลิขสิทธิ์เป็นอย่างไร

สมพร: ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะพูดยาก ทางเราเองมีปัญหานี้มาตลอด แต่ถามว่ามันดีขึ้นหรือไม่ ก็ถือว่าดีขึ้นในระดับหนึ่ง จริงๆ ปัญหาดังกล่าวดีขึ้นมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่สมัยค่ายเพลงไปรณรงค์กันแล้วมีการปราบปรามกันอย่างหนักก็ดีขึ้น แต่ถามว่าปัญหานี้จะหมดไปหรือไม่ ก็ไม่หมดไปอย่างแน่นอน ดังนั้นสำหรับปลากัดอีบุ๊คและซอฟต์แวร์รุ่นหลังๆ เราจะมีระบบลงทะเบียน เพื่อป้องกันเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเป็นระบบที่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ใช้แล้วพอสมควร

นอกจากนี้การใช้วิธีแบบที่กล่าวมา บริษัทซอฟต์แวร์ไทยก็ค่อนข้างจะใช้เยอะแล้วเหมือนกัน ในปลากัดอีบุ๊คก็มีลงทะเบียน หมายความว่าใครจะอ่านหนังสือเล่มไหนก็ต้องมีการลงทะเบียนก่อน ตรงนี้อาจจะยุ่งยากบ้าง แต่ช่วยให้ตลาดเกิดได้ เพราะถ้าตลาดไม่โตคนที่อยากอ่านอีบุ๊คก็จะไม่มีโอกาสได้อ่าน เพราะจะไม่มีใครทำหนังสือ ต้องยอมรับว่าต้องมีการ่วมมือกันทั้งฝ่ายภาครัฐมาสนับสนุน ฝ่ายเอกชนทำ ฝ่ายผู้ใช้ก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย


อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักของการละเมิดอยู่ที่เรื่องราคา ที่ยังมีความเลื่อมล้ำกันมากระหว่างของจริงกับโปรแกรมที่ได้มาโดยการละเมิด แต่จะให้ผู้ประกอบการมาทำราคาแข่งกับคนละเมิดมันก็ไม่ได้ เพราะคนละเมิดไม่มีต้นทุนอะไรมากกว่าแผ่นซีดี แต่ผู้ประกอบการทุกคนจ้างวิศวกร จ้างโปรแกรมเมอร์ ตั้งทีมคิวซี บางซอฟต์แวร์ลงทุนเป็นล้าน เพราะฉะนั้นจะไปแข่งราคากันอย่างไรก็แพ้

IT Exclusive : ตลาดไอทีโดยรวมในประเทศไทยมีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง

สมพร: ในส่วนของไอทีเราก็มีหน่วยงานเอกชนหลายๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ที่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องของผู้ประกอบการไอทีในเรื่องซอฟต์แวร์ สำหรับตลาดของเมืองไทยนี้ผมก็มองว่า จากที่ได้ไปคลุกคลีในองค์กรต่างๆ ก็คือ เรามีซอฟต์แวร์เมืองไทยที่มีคุณภาพ และเป็นซอฟต์แวร์ที่ค่อนข้างจะดี

อาจจะไม่ใช่มุมมองที่ผมเคยมอง เพราะผมอยู่ในตลาดใหญ่ที่เป็นผู้ใช้งานทั่วไป จะมองอีกแบบหนึ่ง ก็มีซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถซับซ้อนใกล้เคียงกับต่างประเทศค่อนข้างมาก แต่อาจจะเป็นที่เราขาดเรื่องการตลาด เพราะเป้าหมายของเราเริ่มต้นเราอยู่ในเมืองไทยก่อน มีบริษัทซอฟต์แวร์เพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่เปิดตัวด้วยการทำซอฟต์แวร์เพื่อออกต่างประเทศโดยตรง

เพราะฉะนั้นพอซอฟต์แวร์เฮ้าส์ของคนไทยจะออกต่างประเทศ เราก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การลงทุนเราก็ใช้เงินลงทุนที่เหมาะสมกับในประเทศ เทคโนโลยีก็เหมาะสมกับคนไทย แม้กระทั่งบางทีในเรื่องของภาษาเราก็เน้นให้มีภาษาไทย แต่จริงๆ ถ้าต้องการออกต่างประเทศ ภาษาพวกนี้อาจจะไม่จำเป็น เรามีสินค้าที่ดีแล้ว แต่พอจะไปต่างประเทศเราไม่รู้จะต้องไปที่ไหน การตลาดเราอาจจะยังไม่ถึง

IT Exclusive : ปัญหาและอุปสรรคหลักๆ ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยอยู่ที่จุดไหน

สมพร: ถ้าผมมองปัญหา น่าจะเป็นเรื่องของเงินทุนแล้วก็บุคลากร การตลาด แต่โดยรวมผมว่า ปัญหาหนักจริงๆ คือเรื่องของการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการตลาดในประเทศหรือต่างประเทศ บริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์ทั่วไปค่อนข้างจะอ่อน เราใช้การตลาดแบบไปเรื่อยๆ เป็นส่วนใหญ่ คือไม่มีที่ขาย ไม่รู้จะไปขายที่ไหน แล้วไม่สามารถทำให้คนซื้อเชื่อถือได้

ในด้านของคุณภาพเรามีซอฟต์แวร์ที่สู้ต่างประเทศได้เยอะเลย แต่ต้องมองด้วยว่าคำว่าสู้ได้นั้น ด้วยราคาซอฟต์แวร์ประเภทไหน ยกตัวอย่าง “ซอฟต์แวร์บัญชี เมืองนอกมาตัวละ 10 ล้านบาท ของไทยตัวละล้าน เราจะสู้กันได้ไหม ก็อาจจะใกล้เคียงแต่ราคายังต่างกันมากพอสมควร” ถ้าบอกว่าคนไทยต้องการคุณภาพซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับธุรกิจไทยก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนถึง 10 ล้านบาท ลงทุนแค่ไม่กี่แสนหรือล้านเดียวก็ใช้กันได้แล้ว ปัญหาคือเราคิดว่าเมืองนอกดีกว่าเราก็เลยยอมจ่ายแพงอีก 9 ล้านบาท

IT Exclusive : มองจุดเด่นของซอฟต์แวร์ไทยว่าอย่างไร

สมพร: ซอฟต์แวร์ไทย คือ เราจะเข้ากับคนไทยได้ดี ทั้งในเรื่องของคุณภาพซอฟต์แวร์ การใช้งานและการบริการ ที่สำคัญคือเรื่องของราคา ที่คนไทยเรายังอ่อนคือเรื่องความน่าเชื่อถือเท่านั้นเอง โดยการแก้ไขก็มีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ บริษัทเอกชนต้องช่วยกันทำให้การดูแลรักษาคุณภาพซอฟต์แวร์ และการบริการยังสม่ำเสมอดีขึ้น ต่อมาก็เป็น ในส่วนของภาครัฐบาล หรือสมาคมต่างๆ ด้านๆ ไอซีทีก็มาช่วยกันโปรโมตว่าซอฟต์แวร์ไทยมีอะไรบ้างที่มีคุณภาพและบริษัทใหญ่ๆ ในเมืองไทยใช้กันอยู่

IT Exclusive : ในเรื่องของทรัพยากรบุคคล บริษัทประสบปัญหาตรงนี้มากน้อยแค่ไหน

สมพร: เรื่องบุคลากรก็มีหลายประเด็น อย่างเช่น เด็กจบใหม่ทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง เมื่อทำงานกับบริษัท เรียนรู้การทำงานไปแล้วก็เปลี่ยนงาน อันนี้เป็นปัญหาเพราะคนในวงการนี้ต้องการการเรียนรู้ตื่นตัวเสมอๆ หากเขาทำงานไปสักพัก เขาจะรู้สึกว่าอยู่ที่นี่ไม่พอแล้ว ต้องเปลี่ยนที่อะไรทำนองนี้ ส่วนเรื่องอื่นก็คงจะเป็นเรื่องความรู้ความสามารถที่รับเข้ามาแล้วยังไม่ตรงกับความต้องการ หรือไม่ดีอย่างที่บริษัทอยากได้ แต่เราก็มาฝึกฝนต่อ

IT Exclusive : มีอะไรฝากถึงผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์บ้าง

สมพร: ตอนนี้ก็คงเป็นเรื่องของปลากัดอีบุ๊ค ในส่วนของซอฟต์แวร์เราเปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีแล้วในเว็บไซต์
http://www.thaiebook.org/ แต่ปัญหาคงอยู่ที่เนื้อหา สิ่งที่เราอยากได้คือพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนอิสระ สำนักพิมพ์ หรือว่านักเขียนหน้าใหม่ที่จะนำเนื้อหาหรือคอนเทนท์มาแปลงอยู่ในรูปของอีบุ๊ค เพื่อให้ประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดฟรี หรือเพื่อจำหน่ายก็ได้ อยากให้ติดต่อเข้ามากันมากๆ เพราะตอนนี้เรากำลังต้องการอยู่ เพราะถ้าไม่มีผู้ผลิตเนื้อหา งานด้านซอฟต์แวร์ก็ไปไม่ได้ ส่งผลทำให้ตลาดเมืองไทยก็ไปไม่ได้ สุดท้ายกลายเป็นว่าเราต้องใช้ซอฟต์แวร์เมืองนอกกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: